นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรสาริน 7 นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรสาริน 7
ballHome
ballAbout
ballNews
ballFaQ
ballActivities
ballDocuments
ballContact

 

 

ถามมาเราตอบ

เอาความรู้เรื่องบ้านมาฝากกันครับ มีบ้านแล้วก็ต้องดูแลรักษา รู้จักส่วนต่างๆ ของบ้าน แก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ก่อนถึงมือช่างครับ

น้ำ เรื่องที่เจ้าของบ้านควรรู้

น้ำกับบ้าน มีส่วนเชื่อมโยงกันอยู่อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ บ้านหลังไหนที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ไม่ว่าจะในทางใดทางหนึ่งก็ตาม ก็มักจะทำให้เจ้าบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก รู้สึกไม่สะดวกสบาย แม้ว่าจะมีบ้านหลังใหญ่โตสักแค่ไหน แต่น้ำก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญไม่แพ้ไปกว่าการจัดสรรระบบต่างๆ ภายในบ้าน

น้ำ คือชีวิต

การออกแบบบ้านที่ดี จึงควรคำนึงถึงการนำน้ำมาใช้ประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด อีกทั้งควรมีระบบกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน มีระบบรองรับน้ำฝน เพื่อช่วยในการประหยัด ไปจนถึงระบบการเดินสายท่อประปา ที่จะเชื่อมโยงความสะดวกในการใช้งานภายในบ้านให้มากขึ้น ดังนั้น เราลองมาดูเรื่องของ “น้ำ” ที่ควรมีไว้ภายในบ้านกันดังต่อไปนี้ครับ

การติดตั้งถังเก็บน้ำ

หลายบ้านมองข้าม ถังเก็บน้ำ ไป เพราะคิดว่าบ้านตัวเองมีระบบการเดินท่อประปารอบบ้าน ให้ความสะดวกสบายมากพอแล้ว มีประปาที่มีแหล่งน้ำดิบไม่เคยเหือดแห้ง เพราะแม่น้ำใหญ่ แต่ในความเป็นจริง ถังเก็บน้ำ จะมีประโยชน์ในยามฉุกเฉิน กรณีเกิดปัญหาน้ำไม่ไหล ไม่มีน้ำสำรองไว้ใช้ หรือเกิดปัญหาแหล่งน้ำประปาเจือปนสารพิษ (อย่างการลักลอบปล่อยกากของเสียอุตสาหกรรมลงแม่น้ำ) ขึ้นมา ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ถังเก็บน้ำ

ดังนั้น การติดตั้งถังเก็บน้ำควรถูกนำมาพิจารณาไว้ หากมีงบประมาณเหลือเพียงพอ (หมู่บ้านของเรามีมาเรียบร้อยแล้ว) ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งด้วยระบบฝังใต้ดิน หรือติดตั้งบนดิน ตามแบบแปลนของหมู่บ้านสาริน 7 เป็นถังใต้ดินทั้งหมด จะต้องใส่ใจในรายละเอียด และเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ เพื่อป้องการไหลของน้ำจากภายนอกเข้ามาในถังได้ ส่วนบางบ้านที่ไม่สนใจเรื่องความโปร่งโล่งของบริเวณบ้าน (อย่างบ้านแอดมิน) ก็เลือกถังแบบบนดินตั้งแต่ต้น โดยการแก้ไขแบบแปลนตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง

ถังน้ำใต้ดิน

จริงๆแล้ว ปัญหาเรื่องนี้ถ้าหลีกเลี่ยงไปใช้ ถังน้ำบนดินได้ก็จะดีมากเลย แต่ก็เข้าใจว่าเนื้อที่ของบางท่านมีจำกัด ด้วยราคาที่ดินที่แพงลิบลิ่ว การใช้พื้นที่จึงต้องให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ถังน้ำใต้ดินหรือถังน้ำฝังดิน จึงเป็นคำตอบสุดท้าย แต่ ถังน้ำใต้ดิน นั้นการติดตั้งยุ่งยากกว่า ถังน้ำบนดิน ด้วยเหตุที่ใต้ดินนั้น พื้นดินจะอ่อนตัวกว่าผิวดิน การทรุดตัวจึงมากกว่า จึงทำให้ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ถ้ามีการตอกเข็มรองรับน้ำหนักได้ก็ดี ถ้าไม่ตอกเข็ม ก็ควรมีการทำฐานแผ่ คสล. รองรับอย่างมั่นคงด้วย

ระบบการติดตั้งถังน้ำบนดิน
ระบบการติดตั้งถังน้ำบนดิน
ระบบการติดตั้งถังน้ำใต้ดิน
ระบบการติดตั้งถังน้ำใต้ดิน

การดูแลถังเก็บน้ำ

ไม่ว่าจะเป็นถังบนดินหรือใต้ดิน เมื่อใช้งานไปสักระยะหนึ่งอาจมีปัญหาได้ ควรมีการดูแลเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ ส่วนประกอบภายในถังของทั้งสองแบบไม่แตกต่างกัน ต่างกันที่รูปทรงที่ถังบนดินจะเป็นทรงกระบอก ส่วนถังใต้ดินจะเป็นทรงกลม เพราะต้องรับแรงกดจากดินโดยรอบ ที่จะไม่ทำให้ถังแตกร้าว รั่วซึมได้

ส่วนประกอบภายในถังเก็บน้ำ

อุปกรณ์ที่เป็นปัญหาชำรุดบ่อยสุด คือ วาล์วลูกลอย ภายในถัง ซึ่งทำหน้าที่ปิดเปิดน้ำให้ไหลเข้าถังอัตโนมัติ เมื่อลูกลอยตกลงระดับน้ำภายในถังน้อยกว่าที่กำหนด (ปกติที่ระดับ 3/4 ของถัง) จะทำการปล่อยน้ำเข้าในถัง จนกระทั่งลูกลอยเลื่อนขึ้นไปตำแหน่งบนสุดจะปิดน้ำ ถ้าหากพบว่า น้ำล้นจากถังไม่หยุด สันนิษฐานได้ว่า วาล์วลูกลอยชำรุด ให้เปลี่ยนใหม่ (สามารถเปิดฝาถัง หมุนออกจากท่อ ไปซื้อมาเปลี่ยนใหม่เองได้ง่ายๆ)

ถ้าน้ำดูดไม่ขึ้น อุปกรณ์ที่มีปัญหา คือ วาล์วทางดูด (วาล์วกันน้ำไหลกลับ เพื่อให้มีค้างท่อเต็มไปจนถึงปั๊มน้ำ) ส่วนใหญ่จะเสียค่อนข้างยาก และ ปั๊มสูบน้ำ ซึ่งกรณีปั๊มชำรุดควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ เปลี่ยน/ซ่อมแซมอุปกรณ์

การทำความสะอาดถังน้ำ กรณีที่น้ำขุ่นมากๆ เข้าขั้นเป็นน้ำโคลน ต้องมีการล้างถัง จะทำเองหรือจ้างผู้ชำนาญการก็ได้ ถังบนดินคงไม่ยากนัก เพราะสามารถปล่อยน้ำทิ้งออกสู่ภายนอกได้ง่าย จากนั้นเปิดฝาถังใช้ไม้ทำความสะอาด ฉีดน้ำล้างหลายๆ ครั้งจนกว่าจะสะอาด ปิดทางน้ำทิ้ง ปล่อยน้ำเข้าถังจนเต็ม

แต่ถังใต้ดินจะยากกว่า เพราะต้องใช้วิธีการสูบน้ำออก ทำความสะอาดด้วยอุปกรณ์ทำความสะอาด เติมน้ำ/ขัดล้าง/สูบออกจนกว่าจะสะอาด แต่ไม่แนะนำให้ลงไปล้างภายในถังนะครับ เพราะอาจขาดอากาศหายใจ ถ้าจะลงไปจริงๆ ต้องมีการเป่าลมลงไปเพื่อช่วยหมุนเวียนอากาศ และมีผู้ช่วยในการช่วยนำน้ำสกปรก และตัวผู้ล้างออกจากถังด้วย

การเลือกถังน้ำบนดิน

ปิดท้ายด้วยการเลือกถังน้ำบนดินมาใช้งานนะครับ ความเหมาะสมในการนำมาใช้งานก็ตามภาพครับ คุณภาพเลือกตามลำดับ A, B, C ได้เลย ยี่ห้อก็ตามชอบครับ คำแนะนำคือ ดูที่การรับประกันว่ายาวนานแค่ไหน ไม่ควรเอาราคาเป็นตัวตั้งนะครับ

น้ำเสียในครัว

การจัดสรรน้ำทิ้งภายในบ้าน

น้ำทิ้งที่มาจากห้องน้ำ ห้องครัวหรือการทำความสะอาดในส่วนต่างๆ มักจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ หากไม่ทำการกำจัดกากของเสียที่ถูกชะล้างมากับน้ำให้ดี โดยเฉพาะคราบไขมันจากการล้างจาน ที่จะเข้าไปอุดตันท่อทำให้น้ำไหลไม่สะดวก หากการปรุงอาหารมีคราบไขมันมาก ควรหาเครื่องดักจับคราบไขมันมาใช้ เพื่อป้องกันการอุดตัน ที่จะต้องทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมท่อน้ำทิ้งโดยใช่เหตุ ส่วนภายในห้องน้ำสามารถสร้างถังบำบัดน้ำเสีย แยกเอาสิ่งสกปรกออกจากน้ำ จากนั้นเข้าสู่ระบบการกำจัดเชื้อโรคและแบคทีเรียต่างๆ น้ำที่ได้ก็จะสามารถนำกลับเอามาใช้ใหม่ในระบบ เช่น การนำไปรดน้ำต้นไม้ หรือใช้สำหรับการทำความสะอาดเล็กๆ น้อยๆ ได้

นอกจากนี้ การจัดการระบบต่างๆ ของน้ำภายในบ้าน ยังมีอีกหลากหลายจุดที่เพื่อนๆ สามารถนำเอาไปลองปรับใช้ และหาวิธีนำน้ำที่เสียไปกลับมาใช้ใหม่ เป็นการช่วยลดความสิ้นเปลือง และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วยครับ

เรื่องน่ารู้เพิ่มเติมสำหรับสมาชิกครับ

 

กลับไปที่ : ปัญหาคาใจback
Top
2019 © Copyright @Corporate Housing Sarin 7 Ubon Ratchathani, Thailand.
Contact Webmaster : krumontree at gmail.com
Create and Design by Easyhome Group, Hosting by IsanGate.net