foto1
Internet & Security
foto1
Learn to build your website
foto1
Try to our Goal!
foto1
Tip & Tricks to use Computer
foto1
Operating System


Our Sponsor

side 1

Easyhome Group

krumontree200x75
isangate com 200x75
ppor 200x75
isangate net 200x75
 e mil

No. of Page View

blood donate

my fact solar

หลังจากได้ติดตั้ง Solar Rofftop 5 kW On-Grid ใช้งานไปได้เดือนเศษจนได้รับบิลค่ากระแสไฟฟ้ามา 2 รอบบิลเปรียบเทียบกัน การเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน ทำให้มีความรู้แตกต่างชัดเจนมากขึ้นว่า ชนิดใดที่มีการกินพลังงานมากน้อยต่างกัน ผิดจากความเข้าใจของเราเองในอดีตที่คิดเอาว่า ตัวนี้กินไฟมาก ตัวนั้นกินไฟน้อยๆ ตัวนั้นไม่กล้าเปิดใช้งานมาก ตัวนี้สิใช้ง่ายสบายจริงๆ จนมีพฤติกรรมการใช้งานที่ผิดแปลกไปจากเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือกันเลยทีเดียว วันนี้ตอบข้อสงสัยคาใจให้กับหลายๆ คนได้บ้างแล้วล่ะ

ค่าใช้จ่ายที่ลดได้

safe pay 4days

ถ้ามาดูที่ใบแจ้งหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าของรอบเดือน สิงหาคม 2565 (17 ก.ค.-16 ส.ค.) ใช้ไฟฟ้าไป 383 หน่วย เป็นเงิน 1,716.32 บาท เดือนนี้ประหยัดไปได้แค่ 16 หน่วย ประมาณ 67.04 บาท เพราะเพิ่งติดโซลาร์ได้แค่ 4 วันเอง ในความรู้สึกจึงมีความหวั่นๆ อยู่ว่า "คุ้มเปล่าว่ะ!"

bill pea payment

เดือนกันยายนนี้ (รอบ 17 สิงหา - 16 กันยายน 2565) ใช้ไฟฟ้าไปทั้งหมด 296 หน่วย คิดเป็นค่ากระแสไฟฟ้า 1,226.20 บาท ถ้าเอาไปเทียบกับรอบเดือนก่อน 383 หน่วย ค่าไฟฟ้า 1,716.32 บาท แล้วคิดในใจไวไวว่า เป็นเงินที่ลดไปได้แค่เพียง 490.12 บาท อาจจะไม่มากเท่าไหร่ และจริงๆ แล้วมันก็เอาไปเทียบกันไม่ได้หรอก เพราะการใช้งานในแต่ละรอบเดือนนั้นมากน้อยต่างกัน มาดูที่กราฟการใช้ไฟฟ้าในรอบเดือนข้างล่างนี้กันก่อน

Graph aug sept 2022

มาดูที่กราฟการใช้งานจริงๆ ดีกว่า จะเห็นว่า กระแสไฟฟ้าที่ใช้ไป 296 หน่วย ตามใบแจ้งหนี้นั้น คือ กระแสไฟฟ้าที่นำเข้ามาจากกริดของการไฟฟ้า ซึ่งมีมากถึง 58% ในกราฟสีแดง ส่วนกระแสไฟฟ้าที่ได้จากการผลิตชองแผงโซลาร์เซลล์ผลิตให้ใช้งานมี 42% กราฟเส้นสีเขียว และนำไปใช้งานกับโหลดคือกราฟสีฟ้า คิดเป็น 214 หน่วย หมายถึงเดือนนี้ใช้ไฟไปมากถึง 296 + 214 = 510 หน่วย (ไม่ใช่ 296 หน่วยตามใบแจ้งหนี้นะครับ) ถ้าคิดเป็นเงินออกมาจริงๆ ค่าไฟฟ้าเดือนนี้จะประมาณ 510 x 4.7 = 2,397 บาท (ค่า ft เดือนนี้เพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 0.9343 บาท) 

ดังนั้น จึงต้องบอกว่า เดือนนี้ประหยัดค่ากระแสไฟฟ้าไป 2,379 - 1,226.20 = 1,170.80 บาท จึงจะถูกต้องครับ

Graph sept oct 2022

รอบเดือนนี้ (18 กันยายน - 17 ตุลาคม) การใช้งานกระแสไฟฟ้าไม่มากนักจากการที่พายุโนรูเข้ามามีฝนตกหนักหลายวัน อากาศเย็นสบายดี มีเมฆบังช่วงกลางวันในหลายๆ วันด้วย จึงเปิดเครื่องปรับอากาศน้อย ผลิตไฟจากแผงโซลาร์ก็น้อยตามด้วย และช่วงวันที่ 11-17 ตุลาคมไม่มีใครอยู่บ้าน เลยมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปิดอยู่น้อย (ตู้เย็น, นาฬิกา LED, Wi-Fi Router, หลอดไฟแสงสว่างกลางคืนนอกบ้าน 3 หลอด) ใช้ไฟฟ้าจาก กฟภ. ไป 124 หน่วย (คิดเป็น 53%) ชำระเงิน 473.73 บาท ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาเซลล์ไป 47% เท่ากับ 109 หน่วย คิดเป็นเงิน 455.91 บาท เดือนนี้จึงประหยัดได้น้อยลง เพราะช่วงกลางวันใช้ไฟฟ้าน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าซึ่งประหยัดไปถึง 1,170 บาท😁😀

เนื่องจากแสงแดดช่วงนี้ไม่สม่ำเสมอ มีฝนตก เมฆมากในบางวัน และยังผลิตกระแสไฟฟ้าขายคืนให้ กฟภ. ไม่ได้ (ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กกพ. และเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบวัดทั้งขา In-Out รออยู่) ในช่วงที่แดดดีๆ จ้าๆ ในบางวันกำลังผลิตในกราฟสีเขียวจะถูกอุปกรณ์ตัวกันย้อน (CT) ของระบบ Smart meter จำกัดไว้ไม่ให้เกินกว่าที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (Load) ต้องการช่วงเวลาขณะนั้น เพื่อไม่ให้กระแสที่เกินไหลไปทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าของ กฟภ. หมุนกลับ แต่ก็คุ้มค่าล่ะ เพราะกลางวันได้ใช้เครื่องไฟฟ้าเต็มที่ทุกวัน ซึ่งเดือนก่อนๆ ไม่ค่อยได้ใช้ กลัวจ่ายเยอะไง?

ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับ

นับเป็นประสบการณ์อันดีในการใช้งานโซลาร์เซลล์ในวันนี้ จากการที่ตัวระบบแปลงไฟจากกระแสตรงมาเป็นกระแสสลับ (Inverter) เพื่อขนานกับกริดของการไฟฟ้า มีตัวแอพพลิเคชั่นที่สามารถดูการผลิตกระแสไฟฟ้าจาก แผงโซลาร์เซลล์ (PV) และการดึงไฟฟ้ามาจาก กฟน. หรือ กฟภ. (Grid) ทำให้เราเป็นโรคเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรเพิ่มหรือปิดเครื่องไหนไป ก็มักจะเปิดแอพพลิเคชั่นมาดูบ่อยๆ จนเป็นนิสัยเคยชิน

induction heater

ภาพบนนี้ แสดงว่า แผงโซลาร์เซลล์ (PV) ผลิตไฟฟ้าได้ 0.319 kW ในขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (Load) ขณะนั้นต้องการไฟฟ้ามากถึง 0.326 kW จึงต้องดึงไฟฟ้าจาก กฟภ. (Grid) เข้ามาเสริมเพิ่มเติมอีก 0.007 kW จึงจะพอเพียงต่อการใช้งาน

เมื่อดูที่กราฟภาพรวมในแต่ละช่วงวัน จนพบความผิดปกติในกราฟที่พุ่งสูงปรี๊ดขึ้นในแต่ละช่วงมันคืออะไรกัน ที่เราเคยเข้าใจในอดีตนั้นมันจริงไหมเอ่ย? เช่น เครื่องปรับอากาศกินไฟมากอย่าเปิดเลย ใช้เตาแม่เหล็กไฟฟ้าสะดวก และประหยัดกว่าการใช้ต้ม-แกงด้วยเตาแก๊ส มันพลิกความคิดมากจริงๆ ครับพี่น้อง ขอบอกเลย!!!

induction heater

อย่างกราฟนี้แสดงให้เห็นอธิบายได้ดังนี้ เส้นสีแดงๆ คือ การดึงกระแสไฟฟ้าจาก กฟภ. (Grid) มาใช้งาน (ช่วงกลางคืน มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไฟแสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นยังทำงานอยู่) และมีช่วงกราฟที่พุ่งสูงขึ้นทั้งสีแดงและสีฟ้าในบางขณะ อธิบายได้ดังนี้ครับ

ช่วงก่อน 07.00 น. นั้น แม่บ้านเสียบกาต้มน้ำร้อนชงชา แผงโซลาร์เซลล์รับแสงแดดรำไรตอนรุ่งสาง ผลิตไฟฟ้าได้ไม่พอจึงดึงไฟจาก Grid (กราฟสีแดงสูงชัน) มาเสริม จนมีแสงแดดเข้มขึ้นจึงได้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ (กราฟสีฟ้า) มาเสริมทัพ (ช่วงนี้เครื่องปรับอากาศปิดไปแล้ว) พอมาช่วงประมาณ 09.00 น. แม่บ้านเปิดเตาแม่เหล็กไฟฟ้าตั้งซึงอุ่นอาหารเช้า ดึงกระแสไฟฟ้ารุนแรงระดับเกือบ 2 kW เลยทีเดียว แต่มีแสงแดดจ้ามากแล้วไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จึงเข้ามาเสริมได้ทันควัน ถ้าช่วงมีแสงแดดแจ่มๆ โอกาสเห็นกราฟสีแดงจะน้อยลง

สรุปจากประสบการณ์ตรงจึงพบว่า

induction hot pot

  • ตัวที่รับประทานไฟฟ้าจนน่ากลัวประจำบ้านคือ เตาแม่เหล็กไฟฟ้า และกาต้มน้ำร้อน ดังในภาพประกอบนี่แหละ ใช้พลังงานสิ้นเปลืองกว่าการใช้เตาแก๊สเสียอีก เพียงแต่มันสะดวก รวดเร็วดีเท่านั้นแหละ เป็นความรู้ใหม่ของผมที่เข้าใจมาผิดๆ ก่อนหน้านี้

 hot pot blower

  • หม้ออบลมร้อน หม้อทอดไฟฟ้า กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องไมโครเวฟ รับประทานไฟฟ้ารองลงมา แต่ก็ไม่มากเท่าเตาแม่เหล็กไฟฟ้า ยังยอมรับได้ กราฟก็ไม่ได้พุ่งสูงจนน่าตกใจ โดยเฉพาะไมโครเวฟนั้นมีข้อดีกว่าคือ มันใช้ระยะเวลาน้อยกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนชนิดอื่นๆ จึงไม่ได้สิ้นเปลืองมากมายอย่างเขาอื่น

air condition

  • เครื่องปรับอากาศ (Air Condition) ไม่ได้ใช้กระแสไฟฟ้ามากจนน่าตกใจแต่อย่างใด เพียงแต่มันเปิดทำงานใช้ระยะเวลานานก็เลยกินไฟฟ้ามากตามจำนวนชั่วโมงการใช้งานเท่านั้นเอง มากกว่าตู้เย็นอยู่บ้างเพราะมีปริมาตรมากกว่า แต่ตู้เย็นก็เปิดให้ทำงานตลอดเวลาจึงกินไฟฟ้ามากนั่นเอง คำแนะนำสำหรับผูที่จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศใหม่ หรือซื้อตู้เย็นมาใช้แทนเครื่องเก่า แนะนำให้เลือกแบบที่ใช้ระบบอินเวอเตอร์ครับ แม้ว่าจะราคาแพงกว่าเล็กน้อย แต่ก็ประหยัดไฟได้มากกว่า
    ระบบอินเวอร์เตอร์ คือ ระบบควบคุมการทำงานของคอมเพรสเซอร์ที่จะแปลงไฟกระแสสลับ (AC) จากแหล่งจ่ายไฟทั่วไปที่มีแรงดันและความถี่คงที่ ให้เป็นไฟกระแสตรง (DC) โดยวงจรคอนเวอร์เตอร์ (Converter Circuit) จากนั้นไฟกระแสตรงจะถูกแปลงเป็นไฟกระแสสลับ ที่สามารถปรับขนาดแรงดันและความถี่ได้โดยวงจรอินเวอร์เตอร์ (Inverter Circuit) เครื่องจะควบคุมการปรับอากาศหรือทำความเย็น ให้เป็นไปอย่างราบเรียบและคงที่ ด้วยการปรับเปลี่ยนรอบการหมุนของคอมเพรสเซอร์ โดยการเปลี่ยนความถี่ของกระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้กับมอเตอร์ของคอมเพรสเซอร์ แทนการทำงานแบบ ติด-ดับ-ติด-ดับ ในเครื่องปรับอากาศแบบเก่า ทำให้ระบบอินเวอร์เตอร์สามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และที่สำคัญ คือ ประหยัดพลังงาน ระบบอินเวอร์เตอร์จะปรับกำลังในการทำความร้อน หรือทำความเย็นโดยอัตโนมัติ อ้างอิงกับภาวะ Workload ที่มีอยู่ในห้อง ให้กำลังที่สูงกว่าการทำงานในช่วงเริ่มต้น ทำให้ห้องเย็นหรืออุ่นได้เร็วดังใจ

wash machine

  • เครื่องซักผ้า ปั๊มน้ำ พัดลม ก็ไม่ได้กินไฟมากนัก รวมทั้งหลอดไฟฟ้าแสงสว่าง ถ้าเราเปลี่ยนจากหลอดไฟฟ้าแบบมีไส้ ฟลูออเรสเซนต์ มาเป็นแบบหลอด LED ก็จะลดการกินไฟลงได้มาก และดูสว่างกว่า รวมทั้งมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าด้วยครับ ควรเปลี่ยนอย่างยิ่ง

Graph no people

** เพิ่มเติมกราฟแสดงการใช้ไฟฟ้าในวันที่ไม่มีใครอยู่ที่บ้าน มีเพียงตู้เย็นขนาด 14 คิว เสียบปลั๊กไฟฟ้าอยู่ 1 ตู้ นาฬิกาติดผนังแบบ LED 1 เครื่อง และมี UPS 1 เครื่อง กับ Router Wi-fi อีกหนึ่งตัวทำงานเชื่อมต่อตัว Inverter Huawei ของระบบโซลาร์เซลล์เท่านั้น มีการใช้ไฟเล็กน้อยประมาณ 0.2 kW โดยใช้ไฟฟ้าจากกริด (กราฟสีแดง) ช่วงไม่มีแสงแดด และใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ในช่วงกลางวัน (กราฟสีน้ำเงิน)

ความคุ้มค่ากับการลงทุน

การคิดความคุ้มค่าในการลงทุนติดตั้งครั้งนี้ คิดจากฐานของการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ชุดโซลาร์เซลล์ขนาดกำลังการผลิต 4.9 kW ใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 545 W จำนวน 9 แผง รวมอุปกรณ์อื่นๆ ค่าแรงติดตั้ง ค่าดำเนินการออกแบบรับรองโดยวิศวกร ค่าดำเนินการขออนุญาต และค่าธรรมเนียมมิเตอร์ใหม่ของการไฟฟ้า (เพื่อวัดการซื้อ-ขายไฟฟ้ากับ กฟภ.) เป็นเงินงบประมาณ 175,000 บาท อาจจะมีคำถามตามมาว่า "ทำไมแพงจัง เห็นแต่ละรายเสนอราคามาไม่เท่ากันเลยล่ะ" ดูคลิปนี้นะครับมีคำตอบ

ติดตามความรู้เรื่องโซลาร์เซลล์ได้จากช่อง Energy for Dummies นี้ครับ

สำหรับท่านที่สนใจอยากติดตั้งเอง มีช่างติดตั้งให้ อยากซื้ออุปกรณ์มาติดตั้งเองก็สามารถค้นหาได้จาก Google หรือร้านจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้างรายใหญ่ๆ ในที่นี้อยากแนะนำให้ดูราคาอ้างอิงของอุปกณณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง แผงโซลาร์เซลล์ (ระดับ Tier1) หลายยี่ห้อ, Inverter แบรนด์ชั้นนำ, Battery, อุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้ง จากเว็บไซต์ของ โกดังไฟฟ้า (Godungfaifaa) ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ของบริษัทนำเข้าอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ ที่รับงานหลักร้อยล้านให้กับโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทเอกชน และหน่วยราชการของ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)

Solar Rooftop On-Grid 5 kW ซึ่งผมติดตั้งสามารถรองรับการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ดังตารางด้านล่าง นี้ (อาจปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ตามที่ท่านมีใช้งาน แต่เปิดใช้พร้อมกันอย่าให้กินกำลังเกินกว่าที่ผลิตได้เป็นพอ)

 ลำดับ ชนิดเครื่องใช้ไฟฟ้า กำลังวัตต์ จำนวน กำลังไฟฟ้า (W)
1  หลอดไฟฟ้าแบบ LED 10 10 100
 2  หลอดไฟฟ้าแบบฟลูออเรสเซนต์ 18w  18  5 90
 3  หลอดไฟฟ้าแบบฟลูออเรสเซนต์ 36w  36  5  180
 4  โทรทัศน์ขนาด 49 นิ้ว 107  1  107
 5  ตู้เย็นขนาด 15 คิว 190  1  190
6 พัดลมตั้งพื้น 75 1 75
7 เครื่องปรับอากาศ 9000BTU 900 1 900
8 เครื่องปรับอากาศ 12000BTU 1500 1 1500
9 เครื่องปรับอากาศ 18000BTU 1700 1 1700
         
รวม 4842

ถ้านำเอาความประหยัดจากที่ได้ในรอบเดือนกันยายนที่ 214 หน่วย มาใช้เป็นค่าเฉลี่ยทั้งปีที่แดดดีผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 250 หน่วยต่อเดือน อัตราค่าไฟฟ้าที่หน่วยละประมาณ 4.7 บาท (รวมค่า ft แล้ว) จะได้เป็นเงินเดือนละ 250 x 4.70 บาท เท่ากับ 1,175 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่น่าจะคืนทุนได้ในระยะ 5-6 ปีแน่นอน

แต่ระบบที่ติดตั้งนี้ ได้ขอขายไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้คืนให้การไฟฟ้าในอัตราหน่วยละ 2.20 บาทด้วย สมมุติว่า ในแต่ละวันผลิตได้เฉลี่ยวันละ 27 หน่วย (เฉลี่ยแดดดีจัดๆ วันละ 5-6 ชั่วโมง) ใช้ไปวันละ 10 หน่วย ขายคืนให้การไฟฟ้าวันละ 17 หน่วย จะได้เงินคืนวันละ 17 x 2.20 เป็นเงิน 37.40 บาท ก็ตกเดือนละประมาณ 1,122 บาท เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าที่ลดลงได้ในแตละเดือน ก็จะคืนทุนประมาณ 5-6 ปี ได้แน่นอน พ้นระยะจากนั้นไปคือกำไรล่ะ เพราะจะมีอายุการใช้งานตามรับประกัน 12 ปี (เฉพาะแผงโซลาร์เซลล์ ส่วน Inverter รับประกัน 10 ปี) หวังว่าจะไม่มีอุปกรณ์ใดชำรุดก่อนหมดระยะเวลารับประกันนะ

graph down priceprice down

ผลหลังการติดตั้งค่าใช้กระแสไฟฟ้าลดลงเห็นๆ เลยครับ ทำสัญญาขายไฟแล้วรอเปลี่ยนมิเตอร์

redline

พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ | ติด Solar Rooftop 5kW | การประหยัดค่าไฟได้จริงหรือ | ขายไฟฟ้าคืนให้ กฟภ.

สนับสนุนให้ Easyhome อยู่รับใช้ท่านตลอดไป ด้วยการคลิกแบนเนอร์ไปเยี่ยมผู้สนับสนุนของเราด้วยครับ
นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่เว็บไซต์ Easyhome in Thailand เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)