foto1
Internet & Security
foto1
Learn to build your website
foto1
Try to our Goal!
foto1
Tip & Tricks to use Computer
foto1
Operating System


Our Sponsor

side 1

Easyhome Group

krumontree200x75
isangate com 200x75
ppor 200x75
isangate net 200x75
 e mil

No. of Page View

blood donate

how2select bev

ปีนี้ พ.ศ. 2565 เป็นปีที่กระแสรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEV) ในประเทศไทยได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก อาจจะเนื่องด้วยราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นไม่ลดละ หรือได้เวลาที่ต้องเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ คันเดิมเริ่มไม่ไหวกับการซ่อมแซมบำรุงรักษา หรือจะอะไรก็ตามแต่ ผู้เขียนก็เชื่อว่า ถ้าผู้อ่านกดเข้ามาอ่านบทความนี้ ก็น่าจะเป็นคนที่สนใจ หรือกำลังสนใจใน "รถยนต์ไฟฟ้า" หรือ EV Car เหมือนกัน วันนี้เลยจะเขียนบทความเพื่อสรุปมาให้อ่านแบบสั้นๆ เข้าใจง่าย จากการที่ผู้เขียนก็สนใจจะซื้อมาใช้เหมือนกัน เลยหาข้อมูลที่มากล้น มาสรุปเพื่ออธิบายให้คนอนุมัติการซื้อที่บ้านเข้าใจในเบื้องต้น

type ev 03

เพื่อป้องกันความสับสนในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าในบทความนี้ ขอพูดถึงเฉพาะชนิดใช้ไฟฟ้าล้วน BEV เท่านั้นนะครับ ไม่รวมแบบอื่นๆ ดังในภาพข้างบนนี้

ดูจุดประสงค์ของการใช้งานของตนเอง

เพราะการใช้งานรถยนต์ของแต่ละคนนั้น มีความแตกต่างกันมาก ทั้งเพื่อเป็นพาหนะในการเดินทาง การประกอบอาชีพ ประดับบารมี สิ่งจำเป็นต้องมี ฯลฯ การเลือกใช้งานรถยนต์ของแต่ละคน จึงมีวัตถุประสงค์การใช้งานรถยนต์แตกต่างกันออกไป ทำให้ตัดสินใจเลือก รูปแบบ รูปทรงของรถ ขนาด จำนวนที่นั่ง รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ อาทิเช่น

  • ขับรถไปทำงานในสถานที่ทำงานประจำ ออกจากบ้านตอนเช้า กลับบ้านตอนเย็น ในเส้นทางเดิมๆ ประจำ ด้วยระยะทางที่ค่อนข้างเท่าเดิม
  • ขับรถไปเรียน, ขับรถไปรับ-ส่งลูก
  • ขับรถในเมืองเป็นหลัก นานๆ ทีถึงจะออกไปเที่ยวต่างจังหวัด
  • ขับรถเพื่อการสันทนาการ ท่องเที่ยวอยู่เป็นประจำ ใครชวนไปไหนก็ไปทันทีไม่รีรอ
  • ใช้รถยนต์ขับทางไกลๆ เสมอๆ เพราะมีอาชีพต้องเดินทางอย่าง เซลล์แมน ทนายความ

สิ่งแรกที่ต้องเช็คเลย นั่นคือ "การใช้งาน" ครับ ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันอย่างชัดเจน รถยนต์ไฟฟ้านั้นเหมาะกับการใช้งาน "ทุกรูปแบบ" อยู่แล้วครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีตารางการใช้ชีวิตในรอบ 1 สัปดาห์เหมือนๆ กัน เดิมๆ เกินกว่า 70% จะเข้าข่าย "ควรใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า" เป็นอย่างยิ่ง เพราะตารางชีวิตประจำวันของคุณนั้นเหมือนเดิมวนเวียนตลอดนั่นเอง ทำให้วางแผนการใช้งานง่ายขึ้นมาก

สิ่งที่แตกต่างออกไปจากตารางชีวิตแบบนี้นั่นคือ "เลิกเข้าปั้มเพื่อเติมน้ำมันเชื้อเพลิง" เพราะไลฟ์สไตล์ของคุณจะเปลี่ยนมาเป็น นั่นเองครับ ซึ่งเป็นจุดเด่นของรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถมีปั๊มเติมเชื้อเพลิงส่วนตัวที่บ้านได้ ไม่ต่างกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ที่กลับถึงบ้านชาร์จการถึงบ้านตอนเย็นปุ๊บ เสียบปลั๊กชาร์จแบตเตอรี่ให้พร้อม ตอนเช้าดึงสายชาร์จออก แล้วใช้งานรถแบบพลังงานเต็มเปี่ยม 100% ทุกๆ วัน ออกจากบ้านเช้าใช้งาน วนเป็นวัฏจักรทุกๆ วัน

รถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันนี้ (กรกฎาคม 2565) จะยังไม่เหมาะกับคนที่เดินทางไกลบ่อยๆ ในเส้นทางใหม่ๆ ไม่แน่นอน โดยเฉพาะการเดินทางในเส้นทางที่ไม่ใช่เส้นทางหลักที่ผ่านตัวจังหวัดใหญ่ๆ หรือมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ หรือคนที่ประเภทเพื่อนเอ่ยปากชวนแล้วไปไหนไปกันทันที ไม่มีการวางแผนในการเดินทาง อาจจะไปหมดแบตกลางทางหาที่ชาร์จไม่ได้ (แต่ในอนาคตเมื่อสถานีชาร์จมากขึ้น ปัญหานี้จะหมดไป เหมือนเมื่อครั้งที่ผู้เขียนเริ่มใช้รถยนต์ติดแก๊ส LPG เมื่อสิบกว่าปีก่อน)

ev car type 1

มาที่ขนาดและรูปทรงของรถก็หมือนกัน ปกติถ้าใช้งานอยู่คนเดียว หรือมีครอบครัวเล็กๆ สมาชิกไม่เกิน 4 คน ไปไหนมาไหนก็ไม่ได้บรรทุกสิ่งของแบบย้ายบ้านที แบบนี้ก็เลือกรถยนต์นั่งคันเล็กๆ ก็เพียงพอ เพื่อขับรับ-ส่งลูก หรือไปทำงานประจำ ก็ไม่ต้องเลือกรถยนต์ที่เป็นทรง SUV มีที่บรรทุกของเยอะๆ ก็ได้ เพราะขนาดและรูปร่างของรถก็จะมีผลต่อราคาของรถด้วย รถเล็กน้ำหนักเบาราคาก็ถูกกว่า เพราะแบตเตอรี่ก็ขนาดเล็กลง ประหยัดพลังงานกว่ารถรูปทรงสูงใหญ่ (คนไทยส่วนใหญ่มักจะเลือกเผื่อไว้ก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่เคยใช้ประโยชน์ตรงนั้น คิดดีๆ นะครับ)

ประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อผ่านเงื่อนไขเรื่องการใช้งานมาแล้ว ถัดมาให้คำนึงถึง "ประสิทธิภาพของตัวรถ" ว่าตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งานของเรามากเพียงพอหรือไม่ โดยพิจารณาจาก

1. ระยะทางขับขี่ ต่อ 1 การชาร์จ

รถยนต์ที่เราเลือกต้องดูว่า มีระยะทางเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปของเราหรือไม่ หากเราใช้รถวันละประมาณ 100 กิโลเมตร ก็สามารถเลือกรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใดก็ได้  หรืออาจจะเป็นรุ่นความจุแบตเตอรี่ขนาดมาตรฐานก็ได้ เพราะมักจะมีราคาวางจำหน่ายถูกกว่ารุ่นแบตเตอรี่ความจุสูงมาก ถึงขนาดหลักแสนบาทเลยทีเดียว โดยปริมาณแบตเตอรี่นั้นก็เหมือนกับความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง ในรถยนต์เครื่องสันดาปนั่นเองครับ

แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ขับรถค่อนข้างไกล หรืออยากเผื่อใช้เดินทางไกลด้วย ก็ควรเลือกรุ่นที่มีความจุแบตเตอรี่สูงเอาไว้ก่อน เพราะ "เหลือ ดีกว่าขาด" แต่ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

เรื่องระยะทางที่กำหนดจากคำโฆษณานี่ให้ดูดีๆ นะครับว่า ระยะทางที่ว่าอิงกับมาตรฐานอะไร เช่น

  • NEDC (New European Driving Cycle)
  • WLTP (Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure)
  • EPA (Environmental Protection Agency)
  • CLTC (China Light Duty Vehicle Test Cycle)

มาตรฐาน NEDC และ WLTP ทั้งคู่เป็นมาตรฐานการทดสอบจากยุโรป ในขณะที่ EPA มาจากการทดสอบในสหรัฐอเมริกา แต่ละมาตรฐานก็มีการทดสอบที่แตกต่างกัน แต่ทั่วโลกให้การทดสอบของ EPA ให้ผลลัพท์ที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ส่วน CLTC นั้นเป็นมาตรฐานที่ออกมาทีหลังของ "ค่ายรถยนต์ในจีน" ที่พวกเขาใช้กับตลาดรถภายในประเทศเท่านั้น รถยนต์ที่นำมาขายในประเทศไทยเราส่วนใหญ่จะอิงมาตรฐาน NEDC หรือ WLTP เป็นหลัก ซึ่งทุกมาตรฐานเป็นการทดสอบในสถานที่ทดลองช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ใช่การทดสอบใช้งานตามที่เราใช้งานกันจริงๆ ในแต่ละวัน

range standard

เราควรจะเชื่อมาตรฐานอะไรดีล่ะ ที่ใกล้เคียงกว่าเพื่อน (ที่ใช้ในประเทศไทย) ก็คงเป็น WLTP นี่ล่ะ แต่ในความเป็นจริงในการใช้งานจะได้ใกล้หรือไกล ขึ้นอยู่ที่เท้าผู้ขับมากกว่า เท่าที่ประมาณการกันคร่าวๆ ถ้าในข้อมูลรถบอกได้ระยะทาง 400 กิโลเมตรต่อ 1 การชาร์จ ตามมาตรฐาน NEDC จะได้ประมาณ 70-75% ตกที่ 280-300 กิโลเมตร ส่วน WLTPจะได้ประมาณ 90-95% ตกที่ 360-380 กิโลเมตร นี่หมายถึงวิ่งที่ความเร็วคงที่ประมาณ 100-110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนะครับ

EV rang standard

ขนาดมอเตอร์ขับเคลื่อน

เป็นอีกหนึ่งจุดที่ต้องใส่ใจ เพราะรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีแรงบิดที่มหาศาลมากๆ แต่ก็ใช่ว่าจะแรงเสมอไป ในรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นนั้น ทางผู้ผลิตรถยนต์อาจเลือกใส่มอเตอร์ขับเคลื่อนขนาดเล็ก ซึ่งข้อดีคือ ประหยัดพลังงานไฟฟ้า ข้อเสียคือ เมื่อมีการรีดเค้นพลังมันมากๆ เช่น เร่งต่อเนื่องขึ้นเขานานๆ ก็จะทำให้มันร้อนเร็ว ส่งผลให้เกิด "ไฟเต่า" อันเป็นระบบป้องกันการเสียหายของอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าของตัวรถ ที่มีผลมาจากการเกิดจากความร้อนเกินมาตรฐาน นั่นเอง (ตามข่าว แมวไฟฟ้า ขึ้นภูชี้ฟ้าไม่ไหวนั่นแหละ)

ev car battery moter

ส่วนรถที่มีมอเตอร์ขนาดใหญ่ ก็เปรียบเสมือนรถยนต์สันดาปที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่หลายพันซีซีนั่นเอง มอเตอร์ใหญ่ กำลังก็เยอะตาม แต่ก็กินไฟเยอะตามไปด้วยเช่นกัน ข้อดีคือรถจะมีกำลังเหลือๆ ใช้เร่งแซงใครก็สบาย ใช้ขับขึ้น-ลงเขา ลงดอย ก็ชิลๆ สบายๆ แต่ถ้าเค้นมากเกินกำลังมันก็ร้อนได้อยู่ดีนะครับ แต่การเกิดอาการน็อคหรือไฟเต่าก็จะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ด้วยมีกำลังมากเพียงพอนั่นเอง

ระบบระบายความร้อนของแบตเตอรี่-มอเตอร์

เรื่องนี้สำคัญมากๆ เป็นข้อแรกๆ เลยครับ นอกจากปริมาณแบตเตอรี่ที่มีความจุเพียงพอต่อการใช้งานของเราแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงนั้นคือ "ระบบระบายความร้อน" ของแบตเตอรี่ และมอเตอร์ขับเคลื่อนครับ เป็นข้อที่สำคัญมากสำหรับคนที่ขับรถไฟฟ้าเดินทางไกล เพราะการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าตลอดเวลานั้น จะก่อให้เกิดความร้อนที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในระดับหนึ่ง และความร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นมากกับการชาร์จแบตเตอร์รี่แบบ DC Fast charge ตามสถานีบริการ (ให้นึกถึงโทรศัพท์มือถือที่ชาร์จไฟแบบเร็วๆ ได้ จะมีความร้อนเกิดขึ้นมากเมื่อจับที่ตัวเครื่อง)

battery cooling

ในรถยนต์ไฟฟ้าจะมีระบบระบายความร้อนแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า 2 แบบ คือ ระบายด้วยอากาศ และระบายด้วยน้ำหรือสารหล่อเย็น การระบายความร้อนด้วยอากาศย่อมเสียเปรียบกว่าระบบระบายความร้อนด้วยน้ำอย่างมาก เนื่องจากอากาศประเทศไทยนั้นจัดว่าร้อนมากๆ แต่นิสัยของแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่นั้นจะไม่ชอบความร้อน และก็ไม่ชอบหนาวด้วยเหมือนกัน โดยส่วนใหญ่แล้วตัวแบตเตอรี่เองควรมีอุณหภูมิการใช้งานอยู่ระหว่าง 25-40 องศาเซลเซียสครับ

หากแบตเตอรี่ร้อนเกินไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นนั่นคือ "ความเร็วในการชาร์จแบตเตอร์รี่แบบ DC Fast charge จะช้าลง" เนื่องจากทุกการชาร์จแบตเตอรี่จะส่งผลให้เกิดความร้อนที่ตัวแบตเตอรี่นั่นเอง ยิ่งเราไป DC Fast charge เข้าไปอีก ตัวแบตเตอรี่ก็จะได้รับไฟฟ้ามาก ความร้อนก็จะเพิ่มสูงขึ้น ตัวระบบจึงทำการลดความเร็วในการชาร์จฯ เพื่อรักษาอุณหภูมิในอยู่ในระดับที่เหมาะสมนั่นเอง และพอลดความเร็วในการชาร์จแล้ว ระยะเวลาในการชาร์จก็จะเพิ่มเข้าไปอีก ส่งผลให้เราต้องใช้เวลาในการชาร์จแบตเตอรี่นานขึ้น

ความสามารถในการรับพลังงานไฟฟ้าของแบตเตอร์รี่

มีผลโดยตรงต่อระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอร์รี่ ยิ่งรถยนต์ที่มีสเป็กรองรับการชาร์จพลังงานไฟฟ้าสูงๆ ก็ยิ่งทำให้คุณชาร์จแบตเตอร์รี่เต็มเร็วมากยิ่งขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะรองรับการชาร์จทั้งแบบ AC และ DC

การชาร์จรถไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) คือ การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน ผ่าน Wallbox นับเป็นวิธีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มีต้นทุนถูกที่สุด ณ ปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะบ้านที่ติดตั้งมิเตอร์แบบ TOU (Time of Use) จะคิดตามเวลาที่ใช้งาน On Peak (เวลา 09.00 น. –  22.00 น. วันจันทร์ - ศุกร์) หน่วยละประมาณ 5 บาท และช่วง Off Peak (เวลา 22.00 - 09.00 น. วันจันทร์ - ศุกร์ และ 00.00 - 24.00 น. ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ ไม่รวมวันหยุดชดเชย) หน่วยละประมาณ 2.6 บาท

การชาร์จแบบ AC (ชาร์จที่บ้าน) ระบบจะทำการรับไฟฟ้าจากเครื่องชาร์จที่เป็นแบบที่เรียกว่า Wallbox ผ่านเข้าสู่ On-Board AC-charger ในตัวรถ เพื่อแปลงเป็นระบบไฟฟ้าแบบ DC ส่งเข้าสู่แบตเตอร์รี ด้วยขนาดกำลังวัตต์ตั้งแต่ 6, 7, 11 หรือ 22 kW (ขึ้นอยู่กับตัว On-Board AC-charger ในรถที่ให้มา) ใช้เวลาตั้งแต่ 6-12 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเครื่องชาร์จแบบที่แถมติดมากับตัวรถ (ที่ชาร์จฉุกเฉิน) จะมีขนาดกำลังที่ประมาณ 3.6 kW อาจใช้เวลาชาร์จนานมากกว่า 15 ชั่วโมงขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับขนาดแบตเตอรี่ในรถด้วย)

AC DC Charger 04

การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากระแสตรง (DC) คือ การชาร์จไฟฟ้าที่สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ นับเป็นวิธีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่เร็วที่สุด เพราะเป็นการชาร์จไฟฟ้าจากหัวจ่ายเข้าสู่แบตเตอร์รี่โดยตรง (DC Charger) ไม่ต้องผ่าน On-Board AC-charger ในตัวรถ เหมือนกับการชาร์จด้วยระบบ AC ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 50, 75, 120, 250 kW หรือมากกว่า ซึ่งจะสามารถชาร์จได้เร็วมากตั้งแต่ 30 นาทีถึงชั่วโมงเศษๆ ขึ้นกับขนาดแบตเตอรี่ในรถ (โวลต์ และแอมป์ ของแบตเตอรี่ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน)

ชนิดของหัวชาร์จ

หัวชาร์จแบตเตอร์รี่ในรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งจุดที่ต้องคำนึงถึงเสมอ อารมณ์คล้ายๆ หัวชาร์จมือถือ iPhone กับหัวชาร์จ Andriod อะไรแบบนั้น ใช้ร่วมกันไม่ได้ โดยวิธีการเลือกให้เราคำนึงจาก "ตู้ชาร์จสาธารณะ" ว่าเค้าให้บริการหัวชาร์จแบบใดบ้าง ซึ่งในปัจจุบันนี้ ตู้ชาร์จสาธารณะจะมีหัวชาร์จแบตเตอร์รี่ให้บริการอยู่ 3 แบบหลัก ได้แก่

AC Type 2

เป็นหัวชาร์จกระแสสลับแบบมาตรฐานกับรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 90% ทั่วทั้งโลก เป็นหัวชาร์จที่รองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงสุด 43 kW โดยตู้ชาร์จสาธารณะในประเทศไทย มักจะใช้กำลังการจ่ายไฟอยู่ที่ 22 kW โดยหัวชาร์จแบบ Wallcharge ที่ทางผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแถมมาให้พร้อมรถ ก็จะใช้หัวชาร์จมาตรฐานนี้ด้วยเช่นกัน

AC DC Charger 05

DC CHAdeMO

เป็นหัวชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงแบบมาตรฐานญี่ปุ่น เป็นหัวชาร์จ DC ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น พัฒนาโดยผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งจะพบได้กับรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ (ที่จำหน่ายในไทย เช่น Nissan Leaf)

โดยหัวชาร์จประเภทนี้จะได้รับความนิยมค่อนข้างน้อย ตู้ชาร์จที่มีหัวชาร์จประเภทนี้ในประเทศไทยมีอยู่ 2 แบรนด์เท่านั้น ได้แก่ ตู้ชาร์จของ PTT EV และ PEA Volta และมีให้บริการที่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ญี่ปุ่นยี่ห้อนั้นๆ ซึ่งหัวชาร์จ CHAdeMO รองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงสุดที่ 100 kW โดยในประเทศไทย ตู้ชาร์จสาธารณะส่วนใหญ่จะรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงสุด 50-60 kW

DC CCS2

เป็นหัวชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงแบบมาตรฐานยุโรป เป็นหัวชาร์จแบบ DC ที่มีการใช้งานแพร่หลายมากที่สุดในโลก ที่มักใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตจากประเทศจีน, ประเทศโซนยุโรป รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศอื่นๆ ที่ใช้มาตรฐานการชาร์จแบบ European Standard โดยหัวชาร์จประเภทนี้ รองรับการจ่ายพลังงานไฟฟ้าด้วยกระแสไฟฟ้าสูงสุด 350 kW โดยในประเทศไทย ตู้ชาร์จสาธารณะส่วนใหญ่จะรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสูงสุด 50-120 kW

* มีผู้ใช้งานนำรถยนต์ไฟฟ้ามาจาก สปป.ลาว มาใช้งาน แล้วหาที่ชาร์จไม่ได้เพราะเป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาจากจีน เป็นหัวชาร์จแบบ GB/T (โดยไม่ได้เปลี่ยนหัวชาร์จตามมาตรฐานของไทย) ดังนั้นผู้ที่จะเอารถไทยข้ามฝั่งไปเที่ยวที่ สปป.ลาว ก็ต้องหาหัวแปลง CCS2 to GB/T ติดรถไปด้วยนะ เพราะสถานีชาร์จในลาวบางแห่งเป็นหัวแบบ GB/T ส่วนมากเลย (หัวชาร์จจะมีขนาดใหญ่มากกว่าเพื่อน)

socket type 4

รถยนต์ Tesla ที่นำมาชายในประเทศไทยใช้หัวชาร์จมาตรฐาน CSS2 ตามที่ประเทศไทยกำหนด

ออปชันรถยนต์ที่ให้มามีมากน้อยแค่ไหน

ถัดมาก็เป็นเรื่องของอุปกรณ์เสริม (Option Accessories) ก็ไม่ต่างจากรถยนต์แบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยใช้งานกันนั่นแหละว่า จัดออปชั่นต่างๆ ที่ให้มากับรถนั้นเพียงพอต่อการใช้งานเราหรือไม่ เพิ่มเงินเพื่อเลือกเอาออปชั่นมาเพิ่มแล้วคุ้มหรือไม่คุ้ม อันนี้ก็แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคนแล้วล่ะว่า ต้องการอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น

  • หลังคาซันรูฟ (จริงๆ เมืองไทยร้อนมากๆ โอกาสจะได้ใช้งานมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ได้มาก็ปิดฟิล์มกันความร้อนแบบทึบที่สุด)
  • ระบบ Adaptive Cruise Control (ปรับรักษาระดับความเร็วอัตโนมัติ)
  • ระบบช่วยป้องกันออกนอกเลน
  • ระบบช่วยขับ Auto Pilot (มีหลายชื่อเรียกที่ชวนสับสน เช่น Auto Assistant, Full Self Driving หรืออื่นๆ)
  • ระบบช่วยถอยจอดอัตโนมัติ
  • กล้องมองรอบคัน 360 องศา
  • ระบบเอนเตอร์เทน Apple Car Play/Android Auto

Adaptive cruise control

ซึ่งส่วนนี้ก็จัดว่าเป็นจุดที่ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้านั้นเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้มากเช่นกัน อย่าเลือกซื้อเพราะว่า จะได้รุ่น Top สุด หรือ เผื่อจำเป็นต้องใช้ หรือเวลาจะใช้แล้วไม่มี ค่ายรถยนต์เขามีวิธีดูดเงินเราพอสมควรแหละต้องคิดให้มากๆ หน่อย (พอเป็นรถไฟฟ้า กำไรจากการขายอะไหล่ ของเหลว สิ่งสิ้นเปลืองต่างๆ ก็น้อยลง ทำให้หลายๆ บริษัทเริ่มมองหาช่องทางดูดเงินจากผู้ซื้อ ด้วยการให้ผู้ซื้อจ่ายเงินซื้อออปชั่นพิเศษให้รถทำงานได้มากขึ้น ผ่านทางซอฟท์แวร์ในรถโดยจ่ายเงินเป็นรายเดือนหรือรายปี ซึ่งต้นคิดก่อนใครก็ ค่ายดาวสามแฉก นั่นเอง)

การรับประกัน บริการหลังการขาย ของแถม

บริการหลังการขาย

ในส่วนของบริการหลังการขาย ก็ไม่ต่างจากรถยนต์สันดาปเลยครับ โดยส่วนของรถยนต์ไฟฟ้านั้น สิ่งที่เราต้องคำนึงเพิ่มมากขึ้นนั่นคือเรื่องของ "การรับประกันระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่" เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า ควรมีศูนย์บริการที่ครอบคลุม มีเครื่องมือเฉพาะทาง มีช่างที่มีความชำนาญ เพราะเป็นระบบอีเล็กทรอนิกส์ที่ค่อนข้างซับซ้อน มีกำลังไฟฟ้าในระบบสูงกว่า 300 โวลต์

การรับประกัน

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้จำหน่ายรถยนต์มักให้การรับประกันที่ 5-8 ปี หรือ 100,000 กม. ขึ้นไป (แล้วแต่ระยะใดถึงก่อน) ถ้ามากกว่านี้จะดีมาก เพราะตัวแบตเตอรี่เองก็มีราคาจำหน่ายที่สูงมากเช่นกัน คือมีราคาเกินกว่า 50% ของรถยนต์ทั้งคัน หากรับประกันน้อยแล้วเกิดแบตฯ สิ้นอายุก่อนวัยอันควร ก็จะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายอันหนักอึ้งเลยทีเดียว อย่าง "น้องแมว" ของค่ายหนึ่งแบตเตอรี่ทั้งก้อนราคาสูงถึง 540,000 บาทเลยทีเดียว ส่วนใหญ่มันก็ไม่ได้เสียยกชุดดอกนะครับ เปลี่ยนโมดุลย่อยๆ ได้ กรณีของรถยนต์ยี่ห้อ เทสล่า (Tesla) มีคนใช้งานเกิน 1,000,000 กิโลเมตร มากกว่า 5 ปีก็ยังไม่เสียหายนะแค่เสื่อมลง (ประจุไฟได้น้อยลง) แค่ 15% เท่านั้นเอง

ของแถม

ถัดมานั่นคือ "ของแถม" สิ่งที่ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าควรได้แถมมา เปรียบเสมือน "สิ่งที่ต้องให้" ในกล่องมือถือเครื่องใหม่ นั่นคือ "สายชาร์จฉุกเฉิน และ Home Charger หรือ Wallbox" เพราะรถยนต์ไฟฟ้าที่มีสถานีชาร์จส่วนตัวอย่าง Home Charger นั้น ทำให้คุณไม่จำเป็นต้องไปชาร์จข้างนอกบ้านเลย เนื่องจากคุณมีแหล่งพลังงานส่วนตัว หรือปั๊มเติมพลังงานที่บ้าน นั่นเอง

AC DC Charger 06

และ "สายชาร์จฉุกเฉิน" ก็เหมือนเสมือนสายชาร์จมือถือ ที่ต้องแถมมาในทุกกล่องครับ มันจะช่วยชีวิตคุณยามคับขันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสายชาร์จที่สามารถชาร์จไฟฟ้าจากปลั๊ก 3 ตาทั่วไปได้ อันนี้จะถือว่าเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ดีมากๆ หากตู้ชาร์จที่คุณกำลังไปชาร์จกลับปิดให้บริการ แต่แบตเตอร์รี่ของคุณอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดไว้ เจ้าสายชาร์จฉุกเฉินนี่แหละ ที่จะช่วยกู้สถานการณ์ไว้ได้ แต่ก็อาจจะใช้เวลาในการชาร์จนานสักหน่อยนะ (ดีกว่าชาร์จไม่ได้ละกัน)

ทดลองขับจนแบตหมด แก้ไขอย่างไร?

รถยนต์ไฟฟ้าคืออนาคต | การเลือกรถไฟฟ้าสักคัน | การเตรียมที่ชาร์จในบ้าน

สนับสนุนให้ Easyhome อยู่รับใช้ท่านตลอดไป ด้วยการคลิกแบนเนอร์ไปเยี่ยมผู้สนับสนุนของเราด้วยครับ
นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่เว็บไซต์ Easyhome in Thailand เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)