foto1
Internet & Security
foto1
Learn to build your website
foto1
Try to our Goal!
foto1
Tip & Tricks to use Computer
foto1
Operating System


Our Sponsor

side 1

Easyhome Group

krumontree200x75
isangate com 200x75
ppor 200x75
isangate net 200x75
 e mil

No. of Page View

blood donate

mx linux header

ลังจากที่สนุกสนานกับการติดตั้ง Linux ลงบนเครื่อง Macbook White Late 2007 เครื่องเก่ามาเกือบสัปดาห์ (โดน Apple เทว่าเครื่องเก่าไปไม่ให้อัพเท OS X อีกต่อไป) ก็ได้เวลาที่จะต้องตัดสินใจหาลีนุกส์ดิสโตรที่เหมาะกับตัวเองที่สุด ก็ต้องลองค้นหาไปว่า Top 10 Linux Distro เป็นตัวไหนกัน ก็พบว่า ความนิยมในปี 2020 เป็นของ MX Linux แซงหน้าเจ้าเดิมอย่าง  Linux Mint, Ubuntu ขาดลอยเลยทีเดียว มีหรือที่ความซนของผมจะหยุดนิ่งได้ มันต้องลองสิ! แล้วมันก็ถูกใจมากๆ

 MX Linux 24

เพราะ MX Linux เกิดจากการรวมกันของ Linux 2 Distro คือ antiX และ MEPIS Linux ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ MX Linux (MEPIS +antiX) ซึ่งก็มีที่มาหรือ Base On Debian นั่นเอง นอกจากความง่ายในการปรับแต่งแล้วยังใช้เดสก์ท็อป XFCE ที่ดูสวยงาม มองเผินๆ ก็เหมือน Windows เป็นมิตรมากกว่า Gnome และ KDE มากครับ มีคลิปมาป้ายยาสำหรับคนสนใจอีกแนะ เชิญชม...

Why MX Linux?

หลังจากถูกป้ายยามาแล้ว มันก็ต้องลองใช่ไหมครับ? ถ้าสนใจจะรอช้าอยู่ใย คลิกที่นี่ดาวน์โหลด (แบบ 64 บิต) มาติดตั้งกันเลยครับ (มีทั้งแบบ Xfce และ KDE จากเซิร์ฟเวอร์ในไทย ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ขนาดไฟล์ 1.46 GB เรียกว่าเล็กกว่าดิสโตรอื่นๆ ส่วนใครอยากได้แบบ 32 บิตก็ไปเลือกที่นี่ครับ

การทำ MX Live USB

ได้มาแล้วก็ทำไดรว์บูตจาก USB เหมือนเดิมด้วย Rufus ตามที่เคยแนะนำไปแล้ว เนื่องจากดิสโตรนี้ต่างจาก Ubuntu อยู่นิดหน่อย เวลาทำไดรว์บูต Rufus จะมีหน้าต่างแจ้งเตือนให้ดาวน์โหลดตัวจัดการเพิ่มเติม (รูปล่างด้านซ้าย) และยืนยันในรูปล่างขวากันเลย

MX Rufus 01

ก็ให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแล้วคลิก Yes ดาวน์โหลดสักพัก (นิดเดียว) แล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนทำงานตามปกติ (วิธีการทำ USB Boot ด้วย Rufus) เสร็จแล้วก็มาติดตั้งกันต่อเลยครับ

การติดตั้ง MX Linux บน Macbook White Late 2007

เริ่มจากเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสาย LAN เพื่อดาวน์โหลดซอฟท์แวร์อัพเดทใหม่ๆ ใช้ในการติดตั้งให้สมบูรณ์ เสียบ MX Live USB เพื่อทำการบูตเครื่องกันเลย รอสักครู่จะได้พบกับหน้าต่างให้เลือกการบูต จากเมนูให้ใช้คีย์ลูกศรเลือกแถวบนสุด

MX Linux 00

จากนั้นเครื่องจะทำการบูตจนปรากฏหน้าจอของ Live MX Linux ดังภาพข้างล่างนี้ สวยงามเชียว จะเห็น Icon Installer (วงกลมสีเหลือง) สำหรับคลิกเพื่อทำการติดตั้ง แต่ช้าก่อน... 

MX Linux 01

คุณมีของดีมาพร้อมด้วยนะ คู่มือ MX Linux (ในวงกลมสีเขียว) เป็น PDF File จำนวน 181 หน้าให้ศึกษาก่อน เป็นภาษาอังกฤษนะจ๊ะ หรือใจร้อนจะติดตั้งเลยเหมือนผมก็คลิกที่ไอค่อน Installer ได้เลย

MX Linux 02

อย่าเพิ่งใจร้อนคลิก Next ผมมีเคล็ดลับที่จะทำให้การติดตั้งครั้งนี้มีระบบภาษาไทย ปุ่มสลับภาษาในการพิมพ์พร้อมเลยทันทีไม่ต้องมาตั้งค่าภายหลังอีก สะดวกกว่าดิสโตรอื่นๆ ด้วยการคลิกที่ Change Keyboard Settings กันเลยครับ (ลูกศรสีแดงชี้นั่นแหละ)

MX Linux 03

จะพบหน้าต่าง Keyboard Layout ดังภาพ ให้คลิกที่เครื่องหมายบวกในวงกลมสีแดงเลย เพื่อเพิ่มภาษาไทยในระบบ (พร้อมรูปธงชาติสวยๆ อีกด้วยนะ)

MX Linux 04

จะมีหน้าต่างสำหรับเลื่อนหาภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทย ซึ่งจะเรียงตามอักษร จนเห็นรูป ธงชาติ Thai คลิกเลือกเลยครับ

MX Linux 05

ต่อไปก็เลือกแป้นพิมพ์ภาษาไทย ให้เลือกเป็น Thai (TIS-820-2538) ตามมาตรฐานแป้นพิมพ์แบบเกตุมณีนะครับ แล้วคลิกไปเลือกที่แท็ป Hotkeys เพื่อเลือกปุ่มสลับภาษาในแป้นพิมพ์ภาษาไทย-อังกฤษ

MX Linux 06

จากนั้นก็กำหนดปุ่มสลับภาษาไทย-อังกฤษกัน ในที่นี้ผมเลือกปุ่ม Left Win (รูปหน้าต่างวินโดว์ด้านซ้ายในคีย์บอร์ดแบบปกติทั่วไป จะตรงกับปุ่ม Super หรือ Command ในเครื่องแม็ค) ซึ่งจะใช้ปุ่มนี้กดสลับภาษาเหมือนกับเครื่องแม็คได้เลย ปุ่มอื่นๆ เช่น Ctrl + Shift (เหมือนใน Ubuntu อาจจะไม่ถนัด) หรือ Alt + Shift, Alt + Spacebar จะไปซ้ำกับคำสั่งบางอย่างในเดสก์ท็อปแบบ XFCE เลยเลี่ยงมาเป็นตัวนี้ เราไม่ใช้ปุ่มตัวหนอนหรือ Accent Grave แบบ Windows เพราะมีการใช้ปุ่มนี้ในคำสั่ง Terminal ในลีนุกส์ เสร็จแล้วไปที่แท็ป Advanced

MX Linux 07

ที่แท็ปนี้เลือกเช็กบ็อก Terminate X with Ctrl+Alt+Backspace แล้วคลิกที่ปุ่ม Apply รอสักครู่จะมีการดาวน์โหลดไฟล์แพ็คเกจภาษาไทยมาติดตั้ง เสร็จแล้วคลิกที่ปุ่ม OK เพื่อเข้าสู่การติดตั้งต่อไป คลิก Next จะเข้าสู่หน้าต่างต่อไป

MX Linux 08

หน้าต่างนี้เพื่อการจัดการฮาร์ดดิสก์ในการติดตั้งมี 3 แนวทาง คือ

  • กรณีที่หนึ่ง ฮาร์ดดิสก์ใหม่มีขนาดใหญ่ต้องการแบ่งพาร์ทิชั่นเพื่อติดตั้งก็ทำได้ คลิกในกรอบสีเหลือง
  • กรณีที่สอง ที่ผมจะทำคือ ฮาร์ดดิสก์ไม่โตนักและเคยติดตั้งระบบอื่นมาแล้ว จะติดตั้ง MX Linux ทับไปเลย เลือกในกรอบสีแดง
  • กรณีที่สาม มีฮาร์ดิสก์โตเพียงพอ และมีระบบปฏิบัติการเดิม อยากติดตั้งเพื่อบูตทำงานสองระบบก็ทำได้ ด้วยการแบ่งพื้นที่ขนาดไม่น้อยกว่า 20GB สำหรับ MX Linux ก็เพียงพอในกรอบสีเขียว

ผมเลือกแบบที่ 2 คลิกที่ปุ่ม Next เพื่อลบข้อมูลเดิมทั้งหมดเลย

MX Linux 09

ตัวติดตั้งจะถามยืนยัน OK เพื่อทำการฟอร์แมตและใช้พื้นที่ทั้งหมดติดตั้ง MX Linux แน่ใจนะ กดปุ่ม Yes ได้เลย

MX Linux 10

ระบบจะทำการแบ่งพื้นที่ฮาร์ดดิสก์ติดตั้งระบบต่างๆ นั่งรอไปจนได้ประมาณ 94% โปรแกรมจะหยุดติดตั้งเพื่อให้เรากรอกข้อมูลที่จำเป็นลงไป

MX Linux 11

เราจะต้องระบุชื่อคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ลงไป : Easyhome (ตัวอย่างของผม) โดเมนของหน่วยงาน : easyhome.in.th (ไม่มีก็ใส่ computername.com) และการแชร์ในเครือข่ายถ้าเป็นการใช้ร่วมกับ Windows ก็ Workgroup หรือชื่ออื่นๆ แล้วแต่ว่าหน่วยงานหรือองค์กรของคุณ ตั้งชื่อเครือข่ายว่าชื่ออะไร เสร็จแล้วคลิกปุ่ม Next

MX Linux 12

หน้าต่างถัดมาจะให้ใส่ถิ่นที่อยู่ (Locale) ของเราแต่มันไม่มีประเทศไทยให้เลือก ก็เลือกตามคีย์บอร์ดหลักไปก่อน ในที่นี้คือ United States - American English แล้วเลือก Timezone เป็น Asia : Bangkok รูปแบบนาฬิกาในระบบเป็นแบบ 24 ชั่วโมงหรือ 12 ชั่วโมง (ตามใจชอบ แต่ที่หน้าจอเดสก์ท็อปเป็นแบบ 12 ชั่วโมง)

MX Linux 13

ต่อมาเป็นการกำหนดชื่อ Default User Account ของเครื่องนี้ และผู้ดูแลระบบ Root (administrator) Account แยกกัน ใส่รหัสผ่านต่างกันด้วยและใส่ยืนยันซ้ำทั้งสองชื่อ ถ้ากลัวจะใส่ไม่ตรงกันก็ให้ติ๊กในช่อง Show passwords ด้วยก็ได้ (จะได้ตรวจสอบง่าย) และในช่อง Autologin ถ้าต้องการเข้าสู่ระบบทุกครั้งอัตโนมัติเมื่อเปิดเครื่อง คลิก Next  (ในการใช้งานทั่วไปเราจะเข้าใช้ด้วยชื่อ Default User แต่ถ้าต้องการแก้ไขปรับแต่งระบบที่สำคัญต้องทำในนาม Root เท่านั้น)

MX Linux 14

ระบบจะทำการติดตั้งต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์ ครบ 100 เปอร์เซนต์ รอสักครู่จะพบกับหน้าต่างแจ้งเตือน

MX Linux 141

แล้วจะบอกว่าติดตั้งเสร็จแล้วนะจะให้รีสตาร์ทเครื่องเลยไหม? ถ้าใช่ก็กดปุ่ม Finish นำเอา Live USB MX Linux ออกจากเครื่อง เพื่อชื่นชมความงดงามของระบบต่อไป หรือยังจะลองสำรวจดูว่า MX Linux มีอะไรอยู่บ้างก่อนก็เอาเครื่องหมายถูกในเช็กบอกซ์กรอบสีแดงออกก่อนก็ได้ตามใจ

Reboot ใช้งานบนฮาร์ดดิสก์ในเครื่อง

MX Linux 15

หน้าตาที่สวยงามของ MX Linux เมื่อบูตเข้ามาครั้งแรก ก็ตรวจสอบการเชื่อมต่อไวร์เลสปรากฏว่าพบเลยทันที เชื่อมต่อได้ปกติไม่ต้องหาไดรเวอร์แต่อย่างใด เชื่อมต่อกับ Access Point 5G ได้ด้วยนะ

MX Linux 16

เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้สักครู่ ก็จะมีการแจ้งเตือนว่า มีการอัพเดทใหม่ๆ (ในวงกลมสีแดงกระพริบๆ) เราก็คลิกเพื่อทำการอัพเดทได้เลยให้ใหม่หมดจด

MX Linux 17

เราสามารถจัดการการแสดงผลหน้าจอต่างๆ ได้ เช่น เปลี่ยน Wallpaper เหมือน Windows มีภาพสวยๆ มาให้เลือกเยอะพอสมควร หรือจะทำการปรับเวลาการพักหน้าจอ การจัดการพลังงานต่างๆ ได้เหมือนกับที่คุ้นเคยในวินโดว์ ลองเล่นดูได้

MX Linux 18

บราวเซอร์ที่ติดตั้งมาพร้อมคือ Firefox แสดงผลภาษาไทยได้ดีพอควร รวมทั้งการค้นหาผ่าน Google หรือเล่น Facebook ก็สามารถพิมพ์ภาษาไทยได้เลย ด้วยการสลับแปันภาษาอังกฤษ-ไทย ที่คีย์บอร์ดปุ่ม Win ด้านซ้ายมือง่ายๆ กดสลับไปมาได้เลย (สังเกตการเปลี่ยนภาษาที่รูปธงชาติบนแถบบาร์ด้านซ้ายมือ ในวงกลมสีเหลืองนั่นเอง)

จากการทดลองใช้ต่อมาอีก 1 วันพบว่า ติดตั้งและใช้งาน Chromium มีความลื่นไหลกว่าหมาไฟนะ คงไม่ใช่นึกไปเองเพราะใน Windows ผมมีหมาไฟเป็นดีฟอลท์ พอมาใช้ใน MX Lnux มันอืดมากๆ เลย สู้เจ้าโครมไม่ได้จริงๆ เลยให้เป็นบราวเซอร์ดีฟอลท์ของเครื่องนี้ไปล่ะ!

การติดตั้งฟอนต์ภาษาไทย

เป็นคำถามของคนที่ต้องใช้โปรแกรมสำนักงาน (LibreOffice) ที่อยากได้ฟอนต์ไทยสารบัญสำหรับการพิมพ์หนังสือราชการ ทำได้ครับไม่ยากเลย อันดับแรกให้ดาวน์โหลดฟอนต์อักษรไทยที่จะใช้มาก่อน ปกติก็ใช้ 13 ฟอนต์ที่ทาง Sipa ทำแจก แต่ผมว่าชุดนั้นเก่าไป เรามาใช้ฟอนต์ชุดนี้ที่ทาง Google นำไปให้บริษัททำฟอนต์ไทยชื่อ คัดสรรดีมาก ปรับแต่ง 13 ฟอนต์ให้สวยงามมีหลายขนาดน้ำหนักให้เลือกใช้ และเพิ่มฟอนต์อื่นๆ อีกถึง 13 แบบเพิ่มเติม รวมเป็น 26 แบบ และให้สิทธินำไปใช้ได้ฟรีเหมือนเดิม คลิกดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ แล้วค่อยทำตามลำดับขั้นต่อไป

ขั้นตอนต่อไปนี้ แนะนำให้ทำการสลับผู้ใช้งานจาก Default User ไปเป็น Root เพื่อให้สามารถใช้สิทธิติดตั้งฟอนต์ได้สะดวก และมีผลกับผู้ใช้ทุกคนเมื่อเรามีการเพิ่มผู้ใช้งานขึ้นอีกในเครื่องนี้ และอีกเหตุผลหนึ่งคือ สิทธิของ Default User ไม่เพียงพอในการแก้ไขระบบแม้จะใช้คำสั่ง sudo นำหน้าก็ตาม (นี่คือระบบรักษาความปลอดภัยของ MX Linux ที่ต่างจากดิสโตรอื่นๆ)

MX Linux 19

เมื่อสลับยูสเซอร์มาเป็น Root แล้วให้เปิดบราวเซอร์ไปดาวน์โหลดฟอนต์ตามลิงก์ข้างต้น จากนั้นไฟล์จะถูกเก็บไว้ในโฟลเดอร์ Downloads ให้คลิกขวาที่ชื่อไฟล์ thaifonts.zip เลือก Extract here จะได้โฟลเดอร์ย่อยชื่อ thaifonts ดังภาพบน (สังเกตว่า จะมีแถบสีฟ้าๆ คาดเตือนบอกว่า ตอนนี้คุณเป็น Root อย่าซนมากนัก อาจทำให้ระบบเสียหายได้ นะจะบอกให้)

MX Linux 20

ให้เปิดเธอไม่นอน เอ้ย! Terminal (ด้วยคีย์ลัด  Ctrl + Alt + T)  แล้วใช้คำสั่งติดตั้งเพียง 2 บรรทัดเท่านั้น ดังนี้

  • ทำการคัดลอกฟอนต์จากโฟลเดอร์ Downloads ไปยังระบบที่ /usr/share/fonts/truetype
    cp Downloads/thaifonts/* /usr/share/fonts/truetype
  • สั่งให้ระบบเคลียร์แคช เพื่อรับรู้ว่ามีฟอนต์ในระบบเพิ่มเข้ามาใหม่
    fc-cache -f -v

แค่นี้ฟอนต์ไทยทั้ง 26 แบบสวยๆ จาก Google ที่เพิ่มเข้าไปก็พร้อมใช้งานแล้ว เราจะไปดูในโปรแกรมสำนักงานที่ติดตั้งให้มาฟรีๆ ชื่อ LibreOffice ซึ่งประกอบด้วยซอฟท์แวร์ย่อย Writer, Calc, Impress, Draw, Base, Math ทดแทน MicroSoft Office ว่ามีฟอนต์ไทยที่ติดตั้งลงไปแล้วหรือยัง?

MX Linux 21

จากหน้าต่างโปรแกรม Writer (ทดแทน MS Word) จะพบว่า มีหน้าต่างแสดงฟอนต์ต่างๆ ซึ่งมีฟอนต์อักษรไทยอยู่ด้วย เช่น K2D, Kanit แต่ตัวอักษรที่ Google นำจาก 13 fonts Sipa ไปพัฒนาต่อนั้นจะตัดชื่ออักษร TH_ ที่นำหน้าชื่อฟอนต์ออกไป รวมทั้ง TH_Sarabun ก็จะเหลือเพียงชื่อ Sarabun และเพิ่มน้ำหนัก/ความละเอียดของฟอนต์ให้แสดงได้สวยงามยิ่งๆ ขึ้นถึง 7 รูปแบบ คือ Sarabun (เหมาะกับการพิมพ์เอกสารทั่วไป), Sarabun ExtraBold, Sarabun ExtraLight, Sarabun Light, Sarabun Medium, Sarabun SemiBold, Sarabun Thin แจ่มๆ เน้อ!

MX Linux 22

เมื่อนำมาพิมพ์ลงในเอกสาร Writer ก็จะให้ขนาดตัวอักษรที่มีขนาดเท่ากันทั้งภาษาไทยและอังกฤษ มีการแสดงผลที่สวยงามคมชัดทั้งในจอแสดงผล และเมื่อพิมพ์ออกมาเป็นเอกสาร ลองเอาไปใช้กันดูครับ

MX Linux 23

ท่านใดจะนำไปทดสอบใช้งานในเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่มีฮาร์ดแวร์แตกต่างกันกว่านี้ก็ทำได้เลย นับเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการใช้ซอฟท์แวร์ฟรี ในเครื่องเก่าที่มีปัญหากับวินโดว์รุ่นใหม่ๆ ได้เครื่องที่มีคุณภาพเพียงพอไว้ทดแทน สำหรับคนที่มีความต้องการใช้งานแค่พื้นฐาน เช่น การพิมพ์เอกสาร การทำบัญชีง่ายๆ การใช้งานท่องอินเทอร์เน็ต รับ-ส่งอีเมล์ ดูหนัง ฟังเพลง ทดลองกันดูนะครับ

สนับสนุนให้ Easyhome อยู่รับใช้ท่านตลอดไป ด้วยการคลิกแบนเนอร์ไปเยี่ยมผู้สนับสนุนของเราด้วยครับ
นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่เว็บไซต์ Easyhome in Thailand เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)